สุดทึ่ง เมื่อนักวิจัยชาวออสเตรเลียพบคุณสมบัติใหม่ในสาหร่ายสีแดง Asparagopsis taxiformis ที่มันช่วยให้วัวไม่ปล่อยก๊าซมีเทนจากการตดหรือเรอได้เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่แต่ละปีวัวตดก๊าซมีเทนออกมาสร้างภาวะเรือนกระจกตัวฉกาจ อานุภาพรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า!
นักวิจัยทีมจากมหาวิทยาลัย University of the Sunshine Coast ออสเตรเลีย ได้นำสาหร่ายทะเล 20 ชนิดมาทดลอง พบว่าสาหร่ายสีแดง ตอบสนองการลดก๊าซมีเทนในกระเพาะวัวมากที่สุด เมื่อนำสาหร่ายสีแดงนี้เข้าไปผสมกับอาหารวัวที่เป็นของแห้ง ในอัตราส่วนไม่ถึงสองเปอร์เซ็นต์ สาหร่ายชนิดนี้จะทำให้วัวหยุดผลิตก๊าซมีเทน เพราะมันมีสารเคมีที่ไปลดจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารของวัวที่ทำให้พวกมันตดหรือเรอหลังกินหญ้าเข้าไป
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เคยรายงานว่าการทำปศุสัตว์อย่างฟาร์มวัว เป็นกิจการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่ารถยนต์ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นๆ และหากสาหร่าย Asparagopsis taxiformis สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนในวัวได้ มันก็จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการลดภาวะโลกร้อนได้ในอนาคต โดยที่ฟาร์มปศุสัตว์ยังสามารถทำกิจการได้อยู่
สิ่งที่นักวิจัยกำลังพยายาม ณ ตอนนี้คือการเพาะปลูกสาหร่ายแดงนี้ได้นอกเหนือจากการเก็บมาจากทะเลเพียงอย่างเดียว แม้ว่าสาหร่ายตัวนี้จะเติบโตได้อย่างอุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ก็ตาม และหากนำสาหร่ายที่ขึ้นในทะเลมาผสมอาหารเลี้ยงวัวในระยะยาวแล้ว ต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดสารตกค้าง หรือสิ่งปลอมปนอย่างไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายทั้งสัตว์และมนุษย์อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก: greenworld.or.th
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปกับเรา Blue Carbon Society