แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลกประมาณ 2,000 กิโลเมตร อย่าง Great Barrier Reef ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือออสเตรเลีย กำลังประสบภาวะเสียหายอย่างหนักไปแล้วกว่าครึ่ง เทียบระยะทางเท่ากับกรุงเทพฯ-นราธิวาสเลยทีเดียว และเมื่อระบบนิเวศแนวปะการังเปลี่ยนไป จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างผลกระทบให้สัตว์ทะเลน้อยใหญ่นับร้อยล้านชีวิต
จากการศึกษาของนักวิจัยจากศูนย์ ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาแนวปะการังของออสเตรเลีย พบว่าสาเหตุที่ทำให้แนวปะการังเข้าขั้นวิกฤตินั้นมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นด้วยผลของ Climate Change เมื่อแนวปะการังที่เป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลมากมายหายไป ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อห่วงโซ่อาหาร ที่ทำให้สัตว์ทะเลในแนวปะการังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ไม่เพียงเท่านั้นยังกระทบต่อการชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย
การสูญเสียแนวปะการังอย่างหนักเช่นนี้ อาจจะเป็นสัญญาณที่กำลังบอกเราให้ดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้แนวปะการังธรรมชาติแข็งแรง แม้โอกาสพลิกฟื้นแนวปะการังมีความหวังเพียงน้อยนิด แต่ยังไม่สายเกินไปถ้าจะลงมือร่วมกันลดโลกร้อนตั้งแต่วันนี้
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปกับเรา Blue Carbon Society